ข่าวประชาสัมพันธ์ข่าวสาร/กิจกรรม

สถาบันวิจัยและพัฒนา ได้เข้าร่วมเวทีเสวนา ‘เผยผลทดสอบ “ระบบเบรก” รถจักรยานยนต์แบบไหนปลอดภัยสุด’ หนุนบังคับติด ABS จยย. ทุกรุ่น หวังลดอุบัติเหตุ จยย. ลง 30%

ตามที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ว่าที่เรือตรี ดร.ทรงวุฒิ มงคลเลิศมณี รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา ได้รับทุนสนับสนุนจากสภาองค์กรของผู้บริโภคให้ดำเนินโครงการวิจัยและตรวจสอบสมรรถนะการห้ามล้อจักรยานยนต์ ตามมาตรฐานการทดสอบในประเทศ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2565  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ว่าที่เรือตรี ดร.ทรงวุฒิ มงคลเลิศมณี รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา ได้เข้าร่วมเวทีเสวนา ‘เผยผลทดสอบ “ระบบเบรก” รถจักรยานยนต์แบบไหนปลอดภัยสุด’ ได้มีการสรุปในสาระสำคัญว่ารถจักรยานยนต์ที่มีการติดตั้งระบบป้องกันล้อล็อก หรือ ABS (Anti-Lock Brake system) เป็นจักรยานยนต์ที่ปลอดภัยที่สุด และในการขับขี่ การเบรกพร้อมกันทั้ง 2 ล้อเป็นวิธีเบรกที่มีประสิทธิภาพที่สุด ทั้งนี้ ข้อมูลจากต่างประเทศชี้ชัดว่าปัจจัยทั้งสองจะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุได้ประมาณ ร้อยละ 30 ทั้งนี้ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา กล่าวว่า ระยะการหยุดของรถนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับสมรรถนะของรถเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับระยะการรับรู้และตอบสนองของผู้ขับขี่ อีกทั้งประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการเบรกยังเกี่ยวข้องกับทักษะในการขับขี่ของผู้ใช้งานด้วยเช่นกัน

โดยผลสรุปที่ได้จากการวิจัยทดสอบ พบว่า การเบรกพร้อมกันทั้งล้อหน้าและล้อหลัง จะได้ระยะการเบรกที่สั้นที่สุด มีประสิทธิภาพมากที่สุด ขณะที่การเบรกด้วยล้อหลังเพียงอย่างเดียวมีประสิทธิภาพน้อยที่สุด นอกจากนี้ ผลจากการวิจัยยังชี้ให้เห็นว่า รถจักรยานยนต์ที่มีระบบป้องกันล้อล็อก หรือ ABS (Anti-Lock Brake system) สามารถช่วยลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุได้ โดยในสถานการณ์ที่ต้องขับขี่เนื่องจากในสถานการณ์จริง ผู้ขับขี่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงขับรถบนพื้นถนนที่เปียกหรือถนนลื่น และผู้ขับขี่แต่ละรายมีทักษะการขับขี่ ทักษะการเบรกที่ไม่เท่ากัน ดังนั้น การมี ABS จะช่วยลดความเสี่ยงในการลื่นไถลของล้อ ซึ่งส่งผลให้สามารถควบคุมรถได้ดีขึ้น

“สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการเลือกซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ ควรเลือกซื้อรถจักยานยนต์ที่ติดตั้งระบบ ABS เนื่องจากสามารถลดข้อจำกัดทั้งจากผู้ขับขี่และสภาพถนนซึ่งอาจนำไปสู่อุบัติเหตุได้ ทั้งนี้ ระบบ ABS นั้นจะเป็นต้องถูกติดตั้งจากต้นทางการผลิต ไม่สามารถติดตั้งเพิ่มเติมภายหลังได้ จึงมองว่าเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องกำกับดูแลให้รถจักรยานยนต์ที่จำหน่ายในประเทศไทยทุกรุ่นติดตั้งระบบเบรก ABS” รอง ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนา ระบุ

ทั้งนี้ สำหรับผลการทดสอบรถจักรยานยนต์ขนาดความจุกระบอกสูบไม่เกิน 125 ซีซี จำนวน 7 รุ่น ที่ได้รับความนิยมจากผู้ใช้งานทั่วไป ได้แก่ 1) Demon GPX 2) Suzuki Skydrive 3) Honda Wave 4) Yamaha Finn 5) Honda MSX 6) Yamaha QBIX และ 7) Suzuki Smash พบว่าระบบเบรกของรถจักรยานยนต์ทั้ง 7 ตัวอย่างผ่านมาตรฐาน UN Regulation 78 มีคุณภาพมีสมรรถนะเพียงพอกับการนำไปใช้งาน นอกจากนี้ การแถลงข่าวได้มีข้อเสนอถึงภาครัฐและผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์ ในเรื่องการติดระบบ ABS ในรถจักรยานยนต์ทุกรุ่น รวมถึงการให้ความรู้และพัฒนาทักษะผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ในเรื่องการเบรก เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน

รายละเอียดเพิ่มเติมกดที่นี่