ทำการศึกษาการเคลือบแข็งผ้าฝ้ายบาติกด้วยสารคงรูปที่ได้จากพืชและสัตว์ จำนวน 3 ชนิด ประกอบด้วย กัมอะราบิก(Gum Arabic) เจลาติน(Gelatin)ชนิดผง และคาร์บอกซิเมทิลเซลลูโลสหรือซีเอ็มซี (Carboxymethyl cellulose,CMC) ในอัตราส่วนสารคงรูป 15 กรัม ต่อน้ำ 3,300 มิลลิลิตร ทดสอบการเกาะติดของสารคงรูปด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนไมโครสโคปแบบส่องกราด SEMScaning Electron Microscope (SEM) กำลังขยายภาพ 1,000 เท่า ทดสอบความกระด้างผ้า“Shirley” Stiffness Tester เพื่อหาความยาวการดัดโค้งตัวของเนื้อผ้า (Bending Length) พบว่า สารคงรูปเจลาติน (Gelatin)ที่ได้จากสัตว์ เคลือบผิวผ้าให้มีความแข็งได้ดีที่สุด ความกระด้างผ้ามีค่าความยาวการดัดโค้งตัวของผ้า (Bending Length) ค่าเฉลี่ยเส้นด้ายยืน 4.78 เซนติเมตร ด้ายพุ่ง 4.92 เซนติเมตร
จากนั้นตกแต่งกลิ่นหอมด้วยไมโครแคปซูล จำนวน 25 มิลลิลิตร สารยึดติด Binder 10 มิลลิลิตร ต่อน้ำ1,000 มิลลิลิตร ทิ้งไว้ระยะเวลา 1 วันและ 30 วัน ศึกษาปริมาณไมโครแคปซูลที่ติดบนผ้า พบว่า ปริมาณไมโครแคปซูลที่เกาะติดบนผ้าฝ้ายบาติกเคลือบแข็งด้วยเจลาติน (Gelatin)ชนิดผง มีปริมาณการเกาะติดของ ไมโครเอนแคปซูลมากที่สุด รองลงมาคือผ้าฝ้ายบาติกที่เคลือบแข็งด้วยกัมอะราบิก (Gum Arabic) และคาร์บอกซิเมทิลเซลลูโลสหรือซีเอ็มซี (Carboxymethyl cellulose,CMC) ตามลำดับ ความกระด้างผ้ามีค่าความยาวการดัดโค้งตัวของผ้า (Bending Length) ค่าเฉลี่ยเส้นด้ายยืน 5.82 เซนติเมตร ด้ายพุ่ง 4.70 เซนติเมตร ด้านความคงทนต่อการซัก 1 ครั้ง 3 ครั้ง และ 5 ครั้ง พบว่า ปริมาณไมโครแคปซูลบนผ้าฝ้ายบาติกที่เคลือบแข็งด้วยเจลาติน (Gelatin)ชนิดผง มีการเกาะติดของไมโครเอนแคปซูลเหลือในปริมาณมากที่สุด รองลงมาคือผ้าฝ้ายบาติกเคลือบแข็งด้วยกัมอะราบิก (Gum Arabic) และคาร์บอกซิเมทิลเซลลูโลสหรือซีเอ็มซี (Carboxymethyl cellulose,CMC) ตามลำดับ
จึงนำผ้าฝ้ายบาติกเคลือบแข็งด้วยเจลาติน (Gelatin) ชนิดผง มาการผลิตพวงมาลัย ดอกไม้ประดิษฐ์ และชุดของขวัญโอกาสพิเศษ เพื่อเป็นสินค้าที่ระลึกประจำชุมชน โดยได้นำความรู้ไปถ่ายทอดแก่กลุ่มอาชีพสหกรณ์ศิลปะประดิษฐ์ จังหวัดนนทบุรี มีผลความความพึงพอใจต่อการฝึกอบรม ด้านการให้บริการของเจ้าหน้าที่ ค่าเฉลี่ย 4.87 ด้านวิทยากร ค่าเฉลี่ย 4.87 ด้านกระบวนการ/ขั้นตอนการให้บริการ ค่าเฉลี่ย 4.80 ด้านสิ่งอำนวยความสะดวก ค่าเฉลี่ย 4.86 ด้านประโยชน์จากการรับบริการ ค่าเฉลี่ย 4.82 และด้านความพึงพอใจในภาพรวม ค่าเฉลี่ย 4.93 ผู้เข้าอบรมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก – มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 98.00 และมีการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ คิดเป็นร้อยละ 100.00